วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

อาคารพิพิธภัณฑ์ในอดีตคือสถานีตำรวจรถไฟ จากนั้นสหภาพแรงงานรถไฟได้ใช้เป็นที่ทำการก่อนที่จะเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ ด้านอาคารนั้นมี "อนุสาวรีย์ศักดิ์ศรีแรงงาน" เป็นรูปปูนปั้นคนงานชายหญิงกำลังผลักกงล้อประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนไปข้างหน้าบนรถถัง
ภายในอาคารมีห้องโถงใหญ่ใช้เป็นห้องอเนกประสงค์ จัดประชุม สัมมนา นิทรรศการและขายของที่ระลึก
ในส่วนของการจัดแสดงแบ่งเป็น 6 ห้อง ห้องแรก : แรงงานบังคับไพร่ทาสคือฐานของสังคมโบราณ - เป็นเรื่องราวของแรงงานไทยยุคโบราณ มีข้าวของเครื่องใช้ และคำบรรยายที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานสมัยโบราณ
ห้องที่สอง : แรงงานในกระบวนการปฏิรูปประเทศ - เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการมีส่วนร่วมของแรงงานไทยต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ห้องที่สาม : ทุกข์ของกรรมกร ใครจะช่วย - แสดงเรื่องราวสะท้อนปัญหาของผู้ใช้แรงงานไทยในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เอกสารหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้แรงงานไทยพยายามที่จะรวมตัวจัดตั้งองค์กรในรูปของสมาคมจากหลักฐานใบปลิว และหนังสือพิมพ์กรรมกร


ห้องที่สี่ : แรงงานพิทักษ์ประชาธิปไตย - เป็นเรื่องราวผู้ใช้แรงงานระหว่างหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ห้องที่ห้า : จากยุคมืดถึงยุคทองแรงงานไทย - มีการแสดงภาพถ่ายและเรื่องราวของผู้นำแรงงานที่เผชิญชะตากรรม ระหว่างการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมุ่งเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ และมองว่าขบวนการสหภาพแรงงานเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการลงทุน
ห้องที่หก : วันนี้ของแรงงานไทย - เป็นเรื่องราวของแรงงานไทยในยุคใกล้ เช่น การต่อสู้เพื่อเรียกร้องกฎหมายประกันสังคมเรียกร้องสิทธิ์ลาคลอด 90 วัน ของแรงงานสตรี เรื่องราวของ ทะนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานผู้ลุกขึ้นคัดค้านเผด็จการจนหายสาปสูญอย่างลึกลับ เรื่องการมีส่วนร่วมของแรงงานไทยระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อครั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 และอิกมุมก็จัดแสดงซากสิ่งของจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานต๊กตาเคเดอร์ ที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก



ส่วนห้องขังที่ยังมีลูกกรงเหล็กได้ดัดแปลงเป็น "ห้องสมุดแรงงาน ศ.นิคม จันทรวิทุร" อตีตอธิบดีกรมแรงงาน นักวิชาการแรงงานอาวุโส ผู้ทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาแรงงานอย่างจริงจัง
สถานที่ตั้ง : ถนนมักกะสัน แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400โทร. 0-2251-3173เปิดทำการ : วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 10.00 - 17.00 น.ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
เอกสารอ้างอิง
กรุงเทพมหานคร. เที่ยวราชเทวี ม.ป.ท., ม.ป.ป.




หนังสืออ้างอิง

วันแรงงาน

ในต่างประเทศมีวันแรงงานมาช้านานแล้ว หลายประเทศกำหนดวันที่ 1 พฤษภาคม หรือ "May Day" เป็นวันแรงงาน แต่ก็มีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ถือวันอื่นเป็นวันแรงงาน แต่โบราณในยุโรปถือว่า วันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูใหม่ในทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองรื่นเริงในพิธีการนำเอาต้นไม้มาตกแต่งประดับให้สวยงาม และสมมติคนหรือตุ๊กตาให้เป็นเทพเจ้าแห่งเกษตรขึ้น เพื่อทำการบวงสรวงบนบานขอให้ปลูกพืชได้ผลดี ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ทางภาคเหนือของยุโรปมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ประเพณีนี้ยังสืบทอดปฏิบัติต่อมาในชนบทของเกาะอังกฤษจนกระทั่งทุกวันนี้
จากการที่มีวันเมย์เดย์เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวัรหยุดงานของคนทำงาน วันหยุดตามประเพณีของแรงงานทั่วไป วันฉลองและวันรื่นเริงของผู้ใช้แรงงาน ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ครั้น พ.ศ. 2433 จึงมีการเรียกร้องในหลายประเทศในทางตะวันตก ให้ถือวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานสากล ในปี พ.ศ.2433 ประเทศไทยในยุโรปหลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม และดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน ในประเทศอังกฤษ มีการฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2435 โดยถือเอาวันอาทิตย์แรกหลังวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงานที่กรุงลอนดอน มักจะมีการชุมนุมกันที่ไฮด์ปาร์ค
วัตถุประสงค์ของวันแรงงานที่นานาประเทศกำหนดขึ้น ก็เพื่อเป็นวันเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ ความสะดวกสะบายในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกวันนี้ ผู้ใช้แรงงานมีส่วนสร้างขึ้นทั้งสิ้น จึงได้ควรมีการระลึกถึงและตระหนักในความสำคัญของแรงงานพอสมควร วันแรงงานถือเป็นเรื่องของแรงงานโดยเฉพาะ การฉลองวันแรงงานทั่วๆ ไปจะไม่นิยมแสดงออกทางการเมือง
สำหรับในประเทศไทย เมื่อระหว่าง พ.ศ.2496-2499 มีการตื่นตัวในเรื่องการก่อตั้งองค์การลูกจ้าง ขณะนั้นกฏหมายแรงงานยังไม่มี จึงตั้งขึ้นในนามของสมาคมกรรมกรไทยและสมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย กรรมการและผู้แทนของสมาคมเหล่านี้ มีโอกาสประชุมกิจกรรมด้านแรงงานในต่างประเทศ และได้ความรู้ว่าหลายประเทศถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมเป็น "วันแรงงาน" ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกวันแรงงานได้จัดให้มีการประชุมขึ้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรกำหนดควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกแรงงานในประเทศไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทางราชการรับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกของแรงงาน ดังนั้น ในวันที่ 30 เมษายน 2499 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ต่อมาใน พ.ศ.2500 ได้มีพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานประจำปีในวันกรรมกรแห่งชาติ คือวันที่ 1 พฤษภาคม
พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 มีอายุได้ 18 เดือน ก็ถูกยกเลิกไป จึงมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 เข้ามาแทนที่ โดยให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และกำหนดวันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นผันแปรเป็นช่วงๆ ไป จึงมีคำชี้แจงจากกระทรวงออกมาแต่ละปีเตือนให้นายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ขอร้องมิให้มีการเฉลิมฉลองทั้งนี้เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จนกระทั่ง พ.ศ.2517 ทางการเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปิดให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร จึงมอบให้กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เริ่มจัดการฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ซึ่งมีการทำบุญตักบาตรตามประเพณีไทย มีนิทรรศการแสดงความรู้และกิจกรรมของแรงงาน มีการอภิปราย มีการละเล่นต่างๆ และนายกรัฐมนตรีกล่าวคำปราศรัยแก่พี่น้องชาวแรงงานทั่วราชอาณาจักร

การบริหารแรงงานแต่เดิมอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยแต่ต่อมารัฐบาลเล็งเห็นว่า ควรจะได้มีการยกระดับหน่วยงานบริหารด้านแรงงานให้มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ เพื่อการคุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำและด้อยโอกาสในสังคม ดังนั้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2536 จึงได้มีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ให้จัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น เพื่อให้การบริหารแรงงานได้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารย
อ้างอิง