พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณกาลจึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน ๖ โดยที่มีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ตายตัว ตามปกติแล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน ๖ ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว
สำนักพระราชวังจะได้ ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปีและได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ ๑ วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณี ตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคลที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา
การประกอบพระราชพิธี พระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ๑ วัน มีอ่านประกาศ ถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในประกาศ นั้น อ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล คราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธารราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพ ที่ทรงบันดาลให้ฝนตกจึงได้สร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น ณ เมืองคันธารราษฎร์ในครั้งอดีตกาล จากนั้นประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมกษัตริย์ ที่ได้ทรงงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมา แต่โบราณกาล ซึ่งเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาเทพยดาทั้งปวงประสิทธิ์ประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงาม เจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้วพระสงฆ์๑๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะ เพื่อเสกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑลมีข้าวเปลือกพันธุ์ต่างๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เลขาธิการพระราชวังพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมจัดเป็น ๒ วันแล้วได้ระงับไปคงได้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำทุกปี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิมเพื่อรักษาบูรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระราชพิธีทุกปี ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัยด้วยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓
ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้น โปรดเกล้าฯ ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระมังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตร เทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตรในปีต่อมาจนปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนา ได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ ๓ - ๔ คือขั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีเพื่อสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ ชาวนาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งได้เสด็จฯมาเป็นประธานอธิษฐานขอความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารให้มีแก่อาณาจักรไทย และได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วพระราชทานนำมาเข้าในพระราชพิธี ประมาณ ๔๐ - ๕๐ กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมาเข้าพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อเป็นสิริมงคลตามพระราชประสงค์ที่ทรงส่งเสริมการเกษตร
ที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น